วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาบุคลิกภาพ

การพัฒนาบุคลิกภาพและการแต่งกาย
โดย กรรณีย์ ถาวรสุข
บุคลิกภาพ
บุคลิกภาพในทางสังคมหมายถึง ภาพของแต่ละบุคคลที่ปรากฏในด้านการแต่งกาย ท่วงทีกริยา การแสดงออก ที่จะทำให้ผู้พบเห็นเกิดความประทับใจทั้งในด้านบวกหรือด้านลบ ผู้ที่ปรากฏกายอย่างดีทั้งด้านการแต่งกายและมารยาทสังคมอันดี จะเป็นที่ประทับใจใคร่คบหาษมาคมนิยมชมชื่น บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่ที่สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝน เช่น การฝึกท่วงทีกริยาที่ดูดี แต่งกายให้เหมาะสมกับกาละเทศะ การมีมารยาทสังคมที่ดี
การเสริมสร้างบุคลิกภาพ
การเสริมสร้างบุคลิกภาพสามารถพัฒนาได้ ตั้งแต่การเคลื่อนไหว การทรงตัว การพูด ความสะอาดหมดจด ความนึกคิดที่ดี ซึ่งสามารถฝึกฝนได้ดังนี้
- การนั่ง ควรนั่งไหล่ตรง หลังตรง วางมือในที่อันควร
- การยืน ควรยืนตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง ขาตรง เท้าชิด หรือเบี่ยงเล็กน้อย
- การเดินและการเคลื่อนไหว ควรเดินตัวตรง ศีรษะตั้งตรง แกว่งแขนเล็กน้อย
- การหยิบของที่พื้น ควรย่อตัวลงหยิบ ไม่ใช่ก้มตัวลงหยิบ
- การพูด ควรพูดด้วยจังหวะที่ดี ใช้น้ำเสียงที่จริงใจ ให้ความรู้สึกเป็นมิตร
- การแสดงสีหน้าควรแสดงสีหน้าปกติไม่แสดงความยินดีโกรธหรือเย็นชาจนเกินไป
- การคิด ควรคิดแต่สิ่งที่ดี ไม่หมกมุ่นอยู่กับความทุกข์
- การรักษาสุขภาพและความสะอาด ควรรักษาน้ำหนักให้เหมาะสมกับความสูง รักษาสุขภาพกายและจิตให้ดีอยู่เสมอ รักษาความสะอาดของร่างกาย สุขภาพที่ดีจะส่งผลให้บุคลิกภาพดีด้วยเช่นกัน
- การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ
การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาละและเทศะหมายถึง การใช้เสื้อผ้ารวมถึงเครื่องประดับตกแต่งร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า โดยให้เหมาะสมกับกาละคือเหมาะสมกับเวลากลางวัน กลางคืน งานเลี้ยงต่างๆ และเหมาะสมกับเทศะคือเหมาะสมกับสถานที่เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
ความสำคัญของการแต่งกาย
ความสำคัญของการแต่งกายก็มีด้วยกันอยู่หลายประการ เช่นเพื่อป้องกันอันตราย เห็นได้จากการใส่เสื้อผ้าเพื่อป้องกันความหนาว การใส่เสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันแสงแดด หรือแต่งกายเพื่อดึงดูดความสนใจและความสวยงาม แต่งกายเพื่อแสดงฐานะทางสังคม เช่นเครื่องแบบนักศึกษา ข้าราชตำรวจ หรือการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับราคาแพงก็สามารถบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมได้เช่นกัน นอกจากนี้การแต่งกายยังบ่งบอกถึงขนบธรรมเนียมและความสุภาพ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็มีลักษณะแบบแผนของตนเอง อย่างเช่นธรรมเนียมตะวันตกถ้าเป็นงานพิธีการจะต้องแต่งกายครบเครื่อง สวมถุงน่อง รองเท้า หมวก ถุงมือ แต่ถ้าป็นธรรมเนียมไทยเราจะไม่สวมหมวก
ประเภทของการแต่งกาย
โอกาสปกติ การแต่งกายในโอกาสปกติ ได้แก่การไปทำงาน ประชุม สอบสัมภาษณ์ ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามสมัยนิยมเหมาะกับสถานที่และสภาพอากาศ
โอกาสพิเศษ
- งานทั่วไป ถ้าในบัตรเชิญกำหนดว่าแต่งกายตามสบาย casual dress หรือ casual clothes สุภาพบุรุษสามารถสวมเสื้อเชิตผูกเนคไท ชุดพระราชทานหรือ ใส่เสื้อเชิตสวมสูททับโดยไม่ต้องผูกเนคไท ส่วนสุภาพสตรีแต่งกายเรียบร้อยมีเครื่องประดับบ้างเล็กน้อย
- งานเลี้ยงตอนค่ำ มักเขียนไว้ในบัตรเชิญว่า Dinner การแต่งกายควรหรูหราขึ้น สุภาพบุรุษใส่เสื้อเชิตผูกเนคไทสวมสูททับ สุภาพสตรีสวมกระโปรงตามสมัยนิยมหรือสวมกระโปรงยาวที่ดูหรูหรา ถ้าเป็นงานเลี้ยงรับรองหรือ cocktail สามารถสวมกระโปรงฟูได้เพราะเป็นการยืนรับประทาน
- งานราตรีสโมสร มักกำหนดว่าเป็น Formal even wear สุภาพบุรุษจะแต่งกายครบเครื่องเต็มยศ ประกอบด้วยสูท กางเกง เสื้อเชิต เสื้อแค่เอว ผ้าคาดเอว โบว์ไท รองเท้าสีดำ ส่วนสุภาพสตรีสวมชุดยาวเปิดไหล่ หรือเสื้อแขนยาวมีการตกแต่งหรูหรา หรืออาจใช้ชุดไทยจักรี ชุดไทยบรมพิมาน
- งานพิธีการ เช่นงานพระราชทานปริญญาบัตร งานพระราชพิธี งานที่เป็นทางการ การแต่งกายต้องเป็นไปตามกำหนด เช่นชุดปกติขาว ชุดสากล ชุดไทยต่างๆ สุภาพสตรีไม่ควรสวมกระโปรงสั้นหรือยาวเกินไป
- งานทำบุญที่วัด ควรแต่งกายสุภาพมิดชิด สีสันไม่ฉูดฉาด เหมาะกับรูปร่างและผิวพรรณ ในกรณีของงานศพสุภาพบุรุษควรใส่ชุดสูทสีเข้ม สวมเชิ้ตขาว เนคไทสีดำ รองเท้าถุงเท้าสีดำ ถ้าเป็นพิธีพระราชทานเพลิงศพ ข้าราชการใส่ชุดปกติขาวสวมแขนทุกข์ สุภาพสตรีสวมชุดดำแบบสุภาพ ไม่ควรมีลวดลาย
- ยามพักผ่อน แต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเช่นเวลาอยู่บ้าน ชุดนอนแต่งตามความชอบส่วนตัวแต่ควรเป็นผ้าเบาสบาย การไปเที่ยวแต่งให้เหมาะกับสถานที่เช่นไปทะเล ปีนเขาควรใส่กางเกง เวลาเล่นกีฬาควรสวมชุดกีฬาเพื่อความเหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น